วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565

16 อาการที่สังเกตได้ของ "ไบโพลาร์"

 หากลองสังเกตดีๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเครียดในชีวิตประจำวันพบได้บ่อยมากขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่กลับมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่ยากนัก 


ทว่าตัวผู้ป่วยเองอาจยังไม่รู้ว่าตนป่วยหรือรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับ ไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด และความทุกข์ใจต่อคนในครอบครัวและคนรอบข้างได้ โรคที่ว่านี้คือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว


กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจาก ซาโนฟี่ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์เอาไว้ ดังนี้


โรคไบโพลาร์ คืออะไร

โรคไบโพลาร์เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม หรืออดนอนบ่อยๆ ร่วมด้วย การแสดงออกทางอาการแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี คึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์สองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)


โดยปกติในแต่ละวัน คนเราจะมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือ เกิดอารมณ์ขั้วบวกหรืออารมณ์ขั้วลบเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว


การสังเกตอาการเริ่มต้นนั้นทำได้ไม่ยาก โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีสัญญาณเริ่มต้น ได้แก่


ขั้วบวก คือ หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ 2-3 วัน พูดมากขึ้น ร่าเริงผิดปกติ หรือในบางคนอาจจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ขั้วลบ คือ เศร้าผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร คิดลบ รู้สึกไม่อยากมีชีวิต 

16 อาการที่สังเกตได้ของ "ไบโพลาร์"

ช่วงขั้วอารมณ์ขึ้นสูง หรือช่วงเบิกบาน

ร่าเริงเบิกบาน หรือหงุดหงิดมากเป็นพิเศษนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และมีอย่างน้อย 3 ข้อของอารมณ์ “คลั่ง” ดังต่อไปนี้


  • รู้สึกลำพองในตัวเอง
  • ต้องการนอนน้อยลง
  • พูดมากกว่าปกติ
  • ความคิดแล่นเร็ว
  • ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดลดลง
  • มีกิจกรรมทางสังคม การงาน หรือทางเพศมากขึ้น
  • ขาดความรอบคอบ ยับยั้งชั่งใจ เช่น การซื้อของอย่างฟุ่มเฟือย ขับรถเร็ว เล่นการพนัน เป็นต้น

ช่วงขั้วอารมณ์ดิ่งต่ำ หรือซึมเศร้า

มีอาการพร้อมกันอย่างน้อย 5 ข้อ นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ของอารมณ์เหล่านี้


  • ซึมเศร้า
  • หมดความสนใจใยดี ความสนุกสนานลดลง
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม หรือลดอย่างมาก
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • ความคิด หรือการเคลื่อนไหวเชื่องช้า
  • อ่อนเพลีย ไม่มีพละกำลัง
  • รู้สึกตนเองไร้ค่า รู้สึกผิดแบบไม่สมเหตุสมผล
  • สมาธิ ความสามารถคิดลดลง
  • ความคิดวนเวียนเกี่ยวกับความตาย

วิธีรักษาไบโพลาร์

เมื่อพูดถึงการรักษาหลายคนมักมีความเข้าใจผิดว่าโรคไบโพลาร์ไม่สามารถรักษาหายได้ แต่ในความเป็นจริงโรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นวิธีการรักษาหลัก โดยแพทย์จะให้ยาทางจิตเวชเพื่อปรับสารสื่อประสาทและควบคุมอารมณ์ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่กันไป 


สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อให้สามารถจัดการกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด โดยข้อห้ามหลักๆ คือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรอดนอน และไม่ควรใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการผิดปกติและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง 


Cr.sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น