วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรค "หยุดหายใจขณะนอนหลับ"


 ขณะที่เรานอนหลับ เรามักไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นหากดูจากชื่อของโรค “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” แล้ว อาจจะฟังดูน่ากลัว และเมื่อเป็นอาการที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ เรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

มีข้อมูลจาก พญ.เพชรพนิต การุณยวนิช แพทย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จากรายการ Sanook Call From Nowhere มาฝากกัน

ทำไมเราถึง “นอนกรน”

อาการนอนกรน เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ทางเดินหายใจตีบแคบ โดยมีหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อคลายตัวผิดปกติ (คนที่นอนหลับจะมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อมากกว่า) แต่ในบางคนอาจมีกล้ามเนื้อที่หย่อนคล้ายมากกว่าคนปกติ จึงทำให้เกิดเสียงกรนขณะหลับได้ หากเกิดการอุดกั้นมาก ก็จะทำให้เกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับได้ ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน จนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายต่อไปได้

กลุ่มเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ

  • ผู้ชาย เสี่ยงมากกว่าผู้หญิง (แต่ผู้หญิงก็เป็นได้)
  • น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มีเนื้อเยื่อที่บริเวณคอมากขึ้น มีโอกาสที่เกิดเสียงกรนได้มากกว่า
  • ความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้
  • มีโครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ เช่น อะดีนอยด์ ต่อมทอนซิลโต

สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรค "หยุดหายใจขณะนอนหลับ"

  1. นอนกรนเสียงดัง
  2. นอนหลับเพียงพอแล้ว (6-8 ชั่วโมง) แต่รู้สึกยังนอนไม่เพียงพอ ยังอ่อนเพลียอยากนอนต่อ
  3. นอนหลับเพียงพอแล้ว แต่ยังง่วงระหว่างวัน เช่น ง่วงระหว่างขับรถ หรือทำงานใช้อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ

อันตรายของโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ

อาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน อาจส่งผลในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคอันตรายต่างๆ เช่น โรคสมองขาดเลือด หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น ความสามารถในการจำแย่ลง รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เป็นอยู่แล้วอาจแย่ลง และแม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่อาการหยุดหายใจขณะหลับ ยังมีโอกาสทำให้ไหลตายด้วยเช่นกัน

วิธีวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองมีการนอนผิดปกติ รับการตรวจจากแพทย์ด้วยเครื่องตรวจการนอนหลับ ที่สามารถแจ้งระดับอันตรายของการหยุดหายใจขณะหลับได้

การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test ผู้ป่วยจะถูกติดตั้งอุปกรณ์วัดคลื่นสมอง คลื่นหัวใจ ตรวจการขยับของช่องท้อง ช่องอก หรืออาจตรวจการนอนหลับได้ที่บ้าน (ในบางรายที่ไม่ต้องตรวจคลื่นสมอง กับคลื่นหัวใจ)

วิธีรักษาโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ

หากมีอาการยังน้อย แพทย์อาจพิจารณาให้ปรับวิถีการดำเนินชีวิตก่อน เช่น ลดน้ำหนัก รับประทานยา หากมีอาการระดับปานกลางถึงมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก เพื่อสู้กับช่องตีบแคบในคอหอยที่ทำให้เกิดอาการกรน และช่วยเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกายขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ใช้กันทั่วโลก

วิธีลดความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ

  1. ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที
  3. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามอาการของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ รวมถึงตรวจร่างกายทั่วไปด้วย
  4. สังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียด
ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น